ประวัติ


ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน
บรรยากาศภายในหมู่บ้านและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
ครูช่างที่โดดเด่น
ผลงานที่โดดเด่น
ผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน
เทคนิคและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์

ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน

หมู่บ้านถวายเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 300 ปี ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าต่อกันมาว่า 
แต่ก่อนนั้นชาวบ้านในพื้นที่นี้ทราบว่าพระนางจามเทวีจะเสด็จโดยเกวียนจากนครลำพูนผ่านมายังหมู่บ้าน เพื่อเดินทางไปสร้างวัดละโว้ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร ชาวบ้านจึงได้นัดแนะกันเพื่อนำเอาผลไม้และเครื่องบรรณการต่างๆ ใส่พานโตกไม้ (พานแบบล้านนามาถวายแด่พระนางจามเทวี เพื่อแสดงความเคารพและเป็นเครื่องสักการะแก่พระนาง จึงทำให้หมู่บ้านแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็น “หมู่บ้านถวาย”
 
ในอดีตบ้านถวายเป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก แต่เมื่อหมู่บ้านประสบภาวะขาดแคลนน้ำและฝนแล้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจในหมู่บ้านตกต่ำ ประมาณช่วงพ.ศ. 2500-2505 ชาวบ้านจึงเริ่มทยอยเดินทางออกจากหมู่บ้านไปประกอบอาชีพอื่นๆ บางคนก็ออกไปรับจ้างก่อสร้าง บางคนก็ออกไปทำการค้าในตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ในจำนวนนี้ก็มีชาวถวาย คือ พ่อใจมา อิ่นแก้ว พ่อหนานแดง พันธุสา และพ่อเฮือน พันธุศาสตร์ ทั้งสามท่านได้เดินทางไปรับจ้างทำงานในตัวเมืองเช่นกัน โดยท่านทั้งสามได้ไปทำงานก่อสร้างที่ร้านน้อมศิลป์ ย่านวัวลาย ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังทางด้านไม้แกะสลัก ทำให้ทั้งสามท่านเกิดความสนใจในงานการแกะสลักไม้ เมื่อได้ทดลองทำและฝึกฝนวิธีการ เทคนิคการแกะสลักกับช่างที่มีฝีมือของทางร้าน จึงได้พัฒนาฝีมือจนได้เปลี่ยนอาชีพมาเป็นช่างแกะสลักไม้ที่ร้านน้อมศิลป์อย่างเต็มตัว
 
เนื่องจากในสมัยนั้นการเดินทางเข้าไปยังตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่ทำได้ค่อนข้างยาก ท่านทั้งสาม จึงต้องปั่นจักรยานเพื่อเดินทางเข้าไปยังตัวเมือง รวมทั้งเมื่อมีงานแกะสลักไม้เข้ามามากขึ้นชาวบ้านทั้งสามท่านจึงได้ขอนำงานแกะสลักมายังบ้านเกิด โดยมีญาติพี่น้องเข้ามาช่วยทำงานเป็นลูกมือ ในงานขัดไม้ ตัดไม้ ทำความสะอาดเครื่องมือ จากนั้นจึงเริ่มให้ผู้ที่มาเป็นลูกมือฝึกการแกะสลักไม้เล็กๆ น้อยๆ ซึ่งนับว่านี่เป็นจุดเริ่มต้นของการถ่ายทอดงานแกะสลักไม้ให้กับลูกหลาน และชาวถวายทำให้งานไม้แกะสลักได้รับการเผยแพร่ออกไปสู่ชาวบ้านผู้มีใจรักในการสร้างสรรค์งานหัตถกรรมการแกะสลัก ซึ่งชาวถวายบางส่วนได้ยึดเอางานแกะสลักไม้เป็นงานอดิเรกที่ทำในเวลาว่าง โดยงานไม้แกะสลักในช่วงแรกนั้นเป็นงานแกะสลักแผ่นไม้เป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายรามเกียรติ์ ครุฑ สิงห์ ตุ๊กตาดนตรี จากนั้นจึงได้มีการพัฒนาทักษะและฝีมือเรื่อยมา และมีผู้ที่สนใจทำงานไม้แกะสลักมากขึ้น จึงเกิดงานแกะสลักไม้ที่มีศิลปะและลวดลายที่แปลกใหม่ ประณีตและวิจิตรงดงามกกว่าเดิม ในระยะต่อมาก็ได้พัฒนางานแกะสลักมาเป็นองค์พระ โดยช่างแกะสลักไม้ส่วนใหญ่ในขณะนั้นจะเป็นผู้ชาย ในส่วนของงานผู้หญิงก็จะช่วยขัดไม้หลังจากการแกะสลักเพื่อให้ดูเรียบเนียน 
 
ในระยะต่อมาได้มีกลุ่มสตรีในหมู่บ้าน นำโดยคุณนงคราญ อุปโยคิน ได้เดินทางเข้าไปในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมในด้านอื่นๆ ณ ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อเกิดความชำนาญจึงได้นำทักษะนั้นเข้ามาผสมผสานกับงานแกะสลักไม้ในหมู่บ้าน ทำให้เกิดงานหัตถกรรมที่มีความงดงาม และมีเอกลักษณ์ ซึ่งสะท้อนถึงความใส่ใจและความมุมานะที่จะพัฒนางาน จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่บ้าน กระทั่งสามารถประยุกต์เทคนิคต่างๆ จนทำให้เกิดงานแกะสลัก และงานหัตถกรรมในรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้นในหมู่บ้านถวาย ซึ่งนั่นคือ งานแต่งเส้นเดินลาย นอกจากนี้ทักษะ เทคนิค และความรู้เหล่านี้ก็ได้รับการสืบทอดต่อไปยังลูกหลานภายในหมู่บ้านถวายเช่นกัน 
 
เมื่องานหัตถกรรมที่ถูกรังสรรค์โดยคนในหมู่บ้านนั้นมีมากขึ้น ชาวบ้านก็เริ่มที่จะมีการแสดงผลงานของตนบริเวณหน้าบ้านของตน ทำให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้ชื่นชม และได้เล่าขานในความประณีตงดงามของไม้แกะสลักของบ้านถวาย จนกระทั่งเริ่มมีนักท่องเที่ยวและพ่อค้าเริ่มเดินทางเข้ามายังหมู่บ้านถวายเพื่อเลือกซื้อ และเข้ามาชมความงดงามของงานไม้แกะสลักที่ชาวบ้านถวายได้สรรสร้างขึ้นมาด้วยใจรัก ทำให้ผลิตภัณฑ์ไม้แกะสลักของบ้านถวายจึงเป็นขอบฝากที่นิยมของผู้ที่มาเยือน รวมทั้งพ่อค้าที่นำไป จัดจำหน่ายต่อเป็นอย่างมาก จากนั้นหมู่บ้านถวายก็เริ่มที่จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางของคนทั่วไปและถูกขนานนามว่าเป็นแหล่งผลิตสินค้าหัตถกรรมไม้แกะสลักที่มีชื่อเสียงแหล่งหนึ่งของประเทศไทย ชาวบ้านจึงเริ่มหันมาประกอบอาชีพแกะสลักไม้เป็นอาชีพหลักเพื่อร่วมสืบสานภูมิปัญญาอันมีคุณค่านี้
 
ในปี พ.ศ.2532-2533 ชาวบ้านถวายที่ประกอบอาชีพหัตถกรรมเป็นอาชีพหลักขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงได้รวมตัวกันภายใต้การนำของพ่อหลวงคำมูล บุตรชัยและคณะกรรมการหมู่บ้าน โดยมีจุดประสงค์เพื่อสืบสานและประชาสัมพันธ์งานไม้แกะสลักของบ้านถวาย ทั้งยังได้มีการจัดงานประจำปีขึ้น ภายใต้ชื่อ “งานศิลปหัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย” ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลและจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการจัดงานบริเวณ โรงเรียนทรายมูล อ.หางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ใช่บริเวณพื้นที่ของบ้านถวาย จนกระทั่งในการจัดงานครั้งที่ 3 จึงได้ย้ายเข้ามาจัดงานบริเวณที่ว่างโล่ง (ปัจจุบันเป็นศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย) ซึ่งในขณะนั้น พลเอกชาติชาย ชุณหะวัน ได้เข้ามาร่วมงานดังกล่าว แล้วจึงได้มอบเงินทุนเพื่อจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมไม้แกะสลักบ้านถวาย พร้อมทั้งนายยุทธนา อุปโยคินได้มอบที่ดิน ในการจัดตั้งเพื่อร่วมสนับสนุน และสืบสานงานแกะสลักไม้ของหมู่บ้านถวาย
 
ชาวถวายจำนวนมากก็ได้ให้ความสนใจมาเปิดร้านเพื่อให้นักท่องเที่ยวและผู้มาเยี่ยมเยือนได้เข้าชมและเลือกซื้องานหัตถกรรมกลับไปเป็นของที่ระลึก อย่างไรก็ตามศูนย์หัตถกรรมนั้น แม้ว่าจะเป็นที่รู้จักในนามของบ้านถวาย แต่ว่าโดยแท้จริงแล้วเป็นพื้นที่เขตหนองแก๋ว รวมทั้งในระยะต่อมาพื้นที่บริเวณดังกล่าวเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการของชายชาวบ้านถวาย ทำให้ในปี พ.ศ. 2535 จึงมีการขยับขยายศูนย์หัตถกรรมเข้ามาบริเวณสองฝั่งคลองชลประทาน โดยมีพ่อหลวงสุวรรณ โปธิ เป็นผู้มีสานต่อเจตนารมณ์ในการพัฒนาตลาดสองฝั่งคลองจากพ่อหลวงคำมูล หลังท่านหมดวาระเพื่อเป็นที่ตั้งร้านค้าเพิ่มเติมให้กับคนในหมู่บ้าน นับแต่นั้นการจัดงานประจำปีของบ้านถวายจึงได้ย้ายเข้ามาจัดในบริเวณพื้นที่สองฝั่งคลองดังกล่าว
 
การพัฒนาศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายสองฝั่งคลองนั้นเกิดขึ้นจากกร่วมแรงร่วมใจของคนในหมู่บ้านด้วยกันเอง โดยชาวหมู่บ้านถวายได้เริ่มจากการผลักดันเพื่อขอใช้ที่ดินบริเวณสองฝั่งคลองจากกรมชลประทานเพื่อพัฒนาเป็นร้านค้า ซึ่งในช่วงแรกนั้นทางกรมชลประทานก็ได้คัดค้านการใช้พื้นที่ แต่ด้วยความแน่วแน่ในความต้องการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาของตนเอง ในที่สุดกรมชลประทานจึงยอมอนุญาตให้ใช้สอยพื้นที่ได้ ในระยะแรกนั้นตลาดสองฝั่งคลองยังเป็นเพียงร้านค้าชั่วคราว คล้ายเพิงหมาแหงน หลังจากนั้นเมื่อตลาดสองฝั่งคลองมีชื่อเสียงมากขึ้น จึงมีการพัฒนาพื้นที่ โดยขยายพื้นที่ถนน การจัดหาไฟฟ้าและสาธารณูปโภคอื่นๆ รวมทั้งมีการจัดตั้งกรรมการร้านค้า ซึ่งในขณะนั้นมีด้วยกันประมาณ 20-30 ร้าน และกรรมการตัวแทนหมู่บ้านเพื่อเข้ามาบริหารจัดการ แล้วจึงมีจำนวนร้านมากขึ้น (ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนเป็นพื้นที่ค้าขายดังที่ปรากฏในปัจจุบัน) 
 
ในปี 2543 ชุมชนบ้านถวายได้พัฒนากลุ่มอาชีพแกะสลักไม้ เป็น "กลุ่มหัตถกรรมบ้านถวายเพื่อการส่งออก" ต่อมาในปี 2547 รัฐบาลได้มีการส่งเสริมงานหัตถกรรม ภายใต้โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และบ้านถวายได้รับการคัดเลือกจากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยให้เป็น "หมู่บ้าน OTOP ต้นแบบ" แห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้รับเลือกเป็น "หมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP" จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้นในการประกวด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ปี พ.ศ.2550 หมู่บ้านถวายก็ได้รับรางวัล "ชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยว" จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และในปี2553 หมู่บ้านถวายยังได้รับคัดเลือกให้เป็น "ย่านการค้าพาณิชย์ บ้านถวาย หมู่บ้านสร้างสรรค์" ล่าสุดในปี พ.ศ. 2554 หมู่บ้านได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ "สุดยอดย่านการค้าพาณิชย์ไทย" จากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อเป็นการช่วยอนุรักษ์วิถีชีวิตการประกอบการค้าของชุมชนแบบดั้งเดิมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน 

บรรยากาศภายในหมู่บ้านและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ

ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวาย 
ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายเป็นแหล่งศูนย์รวมสินค้าหัตถกรรมต่างๆ มากมายทั้งที่เป็นของบ้านถวายและเป็นสินค้าหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงในจังหวัด โดยเริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ประมาณปีพ.ศ. 2532-2533 ภายในศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายมีบรรยากาศภายในที่เย็นสบาย และสะดวกต่อการเดินเพื่อเลือกชมสินค้าต่างๆ โดยแบ่งเป็นโซนจำนวน 9 โซน 17 ซอย รวมแล้วมีร้านค้าทั้งสินกว่า 300 ร้าน สินค้าหัตถกรรมที่มีภายในนั้น ได้แก่ งานจักสาน งานผ้าทอ งานแกะสลัก งานของเก่า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีร้านค้าอื่นๆเช่น ร้านขายยา ร้านขายหนังสือ เป็นต้น รวมทั้งยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มไว้บริการสำหรับผู้ที่มาเที่ยวชม นอกจากนี้ยังมีที่จอดรถสะดวกสบายซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางร้านค้า
 

ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายสองฝั่งคลอง 
ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายสองฝั่งคลอง หรือตลาดสองฝั่งคลองนับว่าเป็นอีกสถานที่ที่นักท่องเที่ยวควรไปเยี่ยมเยือนเมื่อมาถึงจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณใจกลางของหมู่บ้าน ภายในศูนย์เป็นแหล่งรวบรวมร้านค้าซึ่งจัดจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมนานาชนิดทั้งเป็นของประดับตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องประดับ และอื่นๆ โดยสินค้าจะมีเอกลักษณ์ที่มีการใช้เทคนิคเฉพาะของบ้านถวายเข้าไปเป็นส่วนประกอบ ตกแต่งผลิตภัณฑ์ อาทิ การทำสีเก่า การแกะสลักและการปิดทอง ปิดกระจก เป็นต้น โดยส่วนมากตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งคลองชลประทาน ศูนย์หัตถกรรมบ้านถวายสองฝั่งคลองนั้นมีบรรยากาศร่มรื่นให้ผู้มาเยี่ยมเยือนสามารถเดินเลือกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ยังมีการประดับตกแต่ง รวมทั้งออกแบบพื้นที่ด้วยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาอย่างสวยงาม ทั้งยังมีศาลา ที่นั่งพักผ่อน และมุมกาแฟให้ผู้มาเยี่ยมเยือนได้นั่งพักและดื่มด่ำกับบรรยากาศภายในศูนย์หัตถกรรม ภายในศูนย์นอกจาก ผู้มาเยี่ยมชมจะสามารถเลือกซื้อสินค้าที่หลากหลายแล้ว ยังสามารถเห็นวิถีชีวิตและกระบวนการผลิตสินค้าต่างๆ ที่ชาวบ้านถวายสืบทอดกันมากว่า 40 ปี เช่น การลงสี การปิดกระจก การลงรักปิดทอง และการแกะสลัก เป็นต้น
 

วัดถวาย 
วัดถวายจัดว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านถวาย จัดว่าเป็นวัดที่มีความเก่าแก่อีก วัดหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยวัดถวายนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของชาวบ้านในละแวกใกล้ๆ โดยเป็นสถาปัตยกรรมที่มีความงดงามและเต็มไปด้วยผลงานศิลปะการแกะสลักไม้ที่มีชื่อเสียงที่ครูช่างหลายท่านได้ฝากฝีมือของตนในงานพุทธศิลป์ไว้คู่กับวัด เช่น การแกะสลักประตู หน้าต่าง ช่อฟ้าใบระกา และการลงรักปิดทอง นอกจากนี้ภายในวัดเองยังมีสถานที่สำคัญที่ประกอบขึ้นจากศิลปะการแกะสลักไม้อันงดงามและน่าแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชมอีกมากมาย ดังนี้
 
โขงพระโบราณ
เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาที่มีอายุกว่า 200 ปี โดยเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ภายในมีพระพุทธรูปที่เก่าแก่และมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าที่อื่น คือ พระหัตถ์ด้านขวามี นิ้วมือจำนวน 6 นิ้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันว่า แต่เดิมนั้นช่างปั้นได้ปั้นนิ้วเกินมา 1 นิ้ว แต่ก็ได้แก้ไขตามที่ชาวบ้านบอกกล่าวมา ในวันรุ่งขึ้นกลับมีนิ้วเพิ่มขึ้นมาอีก 1 นิ้ว จนปรากฏให้เห็นถึงทุกวันนี้ 
 
อุโบสถไม้สักทอง
เป็นอุโบสถแห่งแรกที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2499 โดยครูบาเจ้าโสภาฯ แต่ไม่ทันแล้วเสร็จท่านครูบาฯ ก็ได้มรณภาพ ต่อมาพระทองดีฐานวโรและครูบาบุญมาฐิตสุทโธจึงได้สานต่อเจตนารมณ์ภายในอุโบสถมีพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานอยู่เป็นองค์ประธานและเป็นพระประธานองค์เดิมที่ครูบาบุญมาฐิตสุทโธท่านได้สร้างไว้ นอกจากนี้อุโบสถยังได้ถูกแกะสลักและลงรักปิดทองอย่างสวยงามด้วยฝีมือของช่างภายในท้องถิ่น
 
ศาลาหลวง
ถูกสร้างขึ้นประมาณปลายปี 2549 ซึ่งปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าเก้าตื้อที่ได้จำลองมาจากวัดสวนดอก ได้มีการออกแบบโครงสร้างศาลาหลวงให้เหมือนสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโดยมีความปลอดโปร่งและเย็นสบาย ซึ่งภายในมีการแกะสลักไม้เป็นเรื่องราวพุทธประวัติและวิถีชีวิตล้านนาอย่างสวยงามด้วยฝีมือครูช่างที่มีชื่อเสียงมากมาย
นอกจากนี้ยังมีการแกะสลักภาพเทพเจ้า เทวดา และเทพพนมเพื่อประดับตกแต่งศาลาให้มีความวิจิตรงดงาม รวมทั้งยังมีการแกะสลักที่บานประตูและหน้าต่างไม้ด้วยเทคนิคและลวดลายเฉพาะของบ้านถวาย นอกจากงานไม้แกะสลักแล้ว บริเวณด้านหน้าศาลายังมีการตกแต่งด้วยงานปูนปั้นเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีต่างๆ ทำให้ศาลาหลวงของวัดถวายนั้นนับว่าเป็นแหล่งสะสมงานไม้แกะสลักและงานหัตถศิลป์ชั้นครูที่ผู้มาเยี่ยมเยือนควรได้มาชื่นชมผลงาน
 
พระวิหาร
พระวิหารของวัดถวายนั้นไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างว่ามีการสร้างในสมัยใด แต่มีความเชื่อว่าน่าจะมีอายุประมาณ 2-3 ชั่วอายุคน รูปทรงและลวดลายต่างๆ ของพระวิหารได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปตามสมัย มีเพียงแต่โครงสร้างเท่านั้นที่ยังคงของเดิมโดยภายในประดิษฐานพระพุทธรูป 2 องค์ องค์พระประธานประดิษฐานอยู่บนบัลลังก์ยอดและองค์ที่ 2 ประดิษฐานบนบัลลังก์รอง ภายในบรรจุพระธาตุพระสีวลีเถระ นอกจากนี้ช่อฟ้า ใบระกา รวมทั้งบานประตูและหน้าต่าง ต่างมีการแกะสลักลวดลายต่างๆ ไว้อย่างดงามโดยฝีมือครูช่างในหมู่บ้าน
 

บ้านทิพย์มณี 
บ้านทิพย์มณีนั้นก็นับว่าเป็นอีกจุดหนึ่งที่ไม่ว่าใครมาบ้านถวายแล้วไม่ควรพลาดที่จะเข้าไปเที่ยวชม โดยตั้งอยู่ใกล้กับตลาดสองฝั่งคลอง บ้านทิพย์มณีได้ถูกออกแบบเป็นลักษณะเรือนไทยล้านนาโบราณ มีความรมรื่นเต็มไปด้วยพรรณไม้ และยังเป็นสถานที่รวบรวมงานไม้แกะสลักกว่า 100 ชิ้นที่ผ่านการสะสมมามากกว่า 18 ปี โดยเริ่มแรกนั้นการแกะสลักไม้ของบ้านทิพย์มณีนั้นเป็นเพียงการแกะสลักเป็นรูปช้าง จากนั้นจึงเริ่มพัฒนางานเป็นรูปแบบอื่นๆ จนปัจจุบันกลายเป็นแหล่งรวบรวมงานที่มีลวดลายวิจิตร งดงาม และลงตัว ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแนวพุทธศิลป์ หรือเป็นแนวสัตว์ในวรรณคดี รวมทั้งลวดลายอื่นๆ ที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องประทับใจเมื่อได้เข้ามาเยี่ยมชม นอกจากนี้แล้วยังเป็นแหล่งรวบรวมครูช่างที่มีฝีมือกว่า 80 คนที่บรรจงรังสรรค์งานไม้ที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นงานไม้แกะสลักในเทคนิคแบบนูนต่ำ แบบนูนสูงหรือแบบลอยตัว รวมถึงแบบ 3 มิติ โดยงานแกะสลักนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า “งานศิลปะ ไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยมเสมอไป อยู่ที่ไหนก็ได้ที่ลงตัว” ทำให้งานแกะสลักของบ้านทิพย์มณีนั้นมีความโดดเด่นและมีความแปลกใหม่ รวมทั้งมีรูปแบบที่หลากหลายกว่าของที่อื่นๆ
ด้วยความศรัทธาและความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายังส่งผลให้งานไม้แกะสลักเป็นรูปศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ได้ผ่านการปลุกเสกโดยพระเกจิอาจารย์มากมาย และยังเป็นสถานที่ที่ผู้มาเยี่ยมชมสามารถเข้าไปกราบไหว้รูปสักการะต่างๆ อย่างมากมาย ผลงานที่โดดเด่นที่บ้านทิพย์มณีที่ไม่ว่าใครก็ต้องเข้ามาเยี่ยมชม ก็คือ พระพิฆเนศไม้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีความสูงถึง 200 เซนติเมตร ยาว 399 เซนติเมตร กว้าง 199 เซนติเมตร และยังมีพระพิฆเนศปางเล็กทั้ง 32 ปาง ที่รังสรรค์ออกมาจากความเลื่อมใสศรัทธาของช่างฝีมือดีหลายท่าน รวมทั้งยังมีพระพิฆเนศประทานพร ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าหากใครได้มากราบไหว้ขอพร ก็จะสมหวังทุกๆ ประการไป
 
นอกจากนี้ยังมีการแกะสลักในวรรณคดีมากมาย เช่น นางสุพรรณมัจฉา กวนอู งานแกะรูปเหมือนของเทพพระเจ้าที่งดงาม ได้แก่เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้าจีน รวมทั้งรูปสลักเหมือนพระเกจิอาจารย์ต่างๆ โดยผู้มาเยี่ยมชมสามารถเข้าไปกราบไว้บูชาและทำการสักการะได้ และยังมีมุมกาแฟสดในบรรยากาศเฮือนล้านนาไว้คอยบริการแก่นักท่องเที่ยว บ้านทิพย์มณียังเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าแกะสลักอื่นๆ เช่น โคมไฟ ตุ๊กตา และของที่ระลึกอื่นๆ ให้ผู้มาเยี่ยมเยือนสามารถซื้อฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านได้อีกด้วย ปัจจุบันบ้านทิพย์มณีได้ดำเนินงานเพื่อสืบสานภูมิปัญญาล้านนาให้คงอยู่ ภายใต้คำมั่นที่ว่า “สืบทอดมรดก แหล่งกำเนิดถิ่นถวาย”
 
ปัจจุบันบ้านทิพย์มณีนั้นได้รับการบริหารงานโดย คุณเกษม และคุณศิริจันทร์ ทิพย์คำมา โดยทั้งสองมีความยินดีที่จะต้องรับนักท่องเที่ยวทุกท่านเพื่อให้ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานภูมิปัญญาแห่งล้านนา บ้านทิพย์มณีเปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่08.00-18.00 น.

ครูช่างที่โดดเด่น

ในปัจจุบันบ้านถวายยังคงเป็นแหล่งสืบสานภูมิปัญญาการแกะสลักไม้ของล้านนา โดยมีครูช่างที่โดดเด่นและมีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ดังนี้ 
 
นายสมบัติ บุตรเทพ หรือ ครูน้อง 
เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการแกะสลักไม้เป็นรูปสิงห์ รวมทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในงานปูนปั้นรูปสิงห์อีกด้วย ครูน้องนับได้ว่าเป็นครูช่างแกะสลักเก่าแก่ของบ้านถวายที่มีประสบการณ์การแกะสลักมากว่า 40 ปี ซึ่งท่านได้มองเห็นคุณค่าทางงานศิลปหัตถกรรมว่าเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่ได้สืบต่อกันมา พร้อมทั้งยังมีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นผู้สรรสร้างผลงานหัตถกรรม ที่เป็นที่ชื่นชมแก่สายตาของคนทั่วโลก
 
นายเฮือน วิญญารัตน์ หรือ ครูอิ๊ด 
เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการแกะสลักไม้เป็นรูปกินรีและนางรำ ซึ่งท่านประสบการณ์การแกะสลักมากว่า 30 ปี ท่านเล่าว่างานหัตถกรรมก็เหมือนกับการวาดลายเส้นลงบนแผ่นไม้ โดยเป็นงานที่มีเอกลักษณ์ รวมทั้งต้องมีความประณีตและใส่ใจที่จะพัฒนางานและรูปแบบของตน อีกทั้งงานหัตถกรรมแกะสลักไม้นั้นไม่เพียงแต่เป็นการแสดงผลงานศิลปะไม้แกะสลักและลวดลายเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนถึงวิถีชีวิตของชาวบ้านลงบนแผ่นไม้อีกด้วย
 
นายจรัส สุขสามพัน หรือ ครูติ๊บ
เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในการแกะสลักเทพจีนต่างๆ เช่น กวนอู เฮ่งเจีย เป็นต้น ครูติ๊บได้กล่าวถึงงานหัตถกรรมไม้แกะสลักไว้ว่าท่านมีความชื่นชอบและสนุกกับการทำงาน เหมือนเป็นสิ่งจรรโลงใจให้กับทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ที่ได้ชม นอกจากนี้ยังเป็นการนำเอาจินตนาการและลวดลายที่ต่างๆ ที่คิดได้มาแกะสลักลงบนไม้โดยที่ไม่ต้องมีแบบหรือกรอบใดๆ มากำหนดความคิดในการสร้างสรรค์ 
 
นายวิชิต ทอนทะษร หรือ ครูดี้ 
เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการแกะสลักพญานาค โดย ท่านได้มีความภาคภูมิใจในผลงานที่ทำ เพราะได้รับการสอนและถ่ายทอดเทคนิคในการแกะสลักไม้มาจากบิดา ซึ่งท่านได้กล่าวอีกว่าการแกะสลักไม้นั้นเป็นงานที่ต้องใช้การฝึกฝนและการพัฒนางาน รวมทั้งต้องมีการประยุกต์เทคนิคมากมายเข้าด้วยกัน จึงเป็นงานที่ทรงคุณค่าและสมควรแก่การสืบทอดต่อไป 
 
นายบุญผล พันธุสา หรือ อาจารย์ปึ้ง 
อาจารย์ปึ้งนับว่าเป็นช่างแกะสลักที่มีชื่อเสียงมาก ด้วยฝีมือและเทคนิคที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบิดา คือพ่อหนานแดง พันธุสา ครูช่างผู้ริเริ่มการแกะสลักในบ้านถวาย โดยท่านมีความเชี่ยวชาญทางด้านการแกะสลักในทุกรูปแบบ ซึ่งท่านได้มองเห็นงานแกะหัตถกรรมแกะสลักไม้ว่าเป็นสุดยอดแห่งงานหัตถกรรม เพราะเป็นงานที่ต้องผสมผสานทั้งความรู้ จินตนาการ เทคนิค และศิลปะอื่นๆ อีกหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน นอกจากนี้การแกะสลักไม้ยังเปรียบเสมือนการได้นำเอาภาพ จิตนาการและลวดลายต่างๆ ที่เป็นนามธรรม นำมาแกะสลักลงบนแผ่นไม้เพื่อให้ผู้อื่นได้ชื่นชมความงามอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อใดก็ตามที่ท่านได้เห็นงานแกะสลักไม้ ท่านก็มีความรู้สึกภาคภูมิใจในผลงานและศิลปะของล้านนา 
 
นายบุญส่ง รังทะษี หรือ ครูแดง 
เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านการแกะสลักนางรำ ตุ๊กตาดนตรี และสัตว์ในวรรณคดีต่างๆ ท่านได้มองว่างานแกะสลักไม้นั้นเป็นงานที่น่าภาคภูมิใจ และยังเป็นความสุขที่ท่านได้ถ่ายทอดลงบนแผ่นไม้เพื่อให้ผู้อื่นได้รับความสุขนั้นลงไปด้วย เมื่อท่านได้ทำงานท่านก็จะพยายามสร้างสรรค์ผลงานที่สื่อถึงทั้งภูมิปัญญา ความภาคภูมิใจ ความสนุกที่ท่านได้รับจากการแกะสลัก รวมทั้งความสุขในการแกะสลักไม้เพื่อส่งไปยังผู้ที่ได้ชมผลงานของท่านอีกด้วย 

ผลงานที่โดดเด่น

ผลงานที่ 1 พระพิฆเนศไม้
 
พระพิฆเนศไม้ ณ บ้านทิพย์มณีนั้น เป็นผลงานที่มีชื่อเสียงและโด่งดังมากของบ้านถวาย ซึ่งไม่ว่าใครที่มาเที่ยวเยี่ยมชมบ้านถวายไม่ควรพลาดที่จะมากราบไหว้ขอพรจากองค์พระพิฆเนศ โดยพระพิฆเนศไม้องค์นี้มีผู้ออกแบบและผู้แกะสลัก คือ คุณเกษม ทิพย์คำมา ร่วมกับช่างแกะสลักไม้กว่า 85 ท่าน ซึ่งองค์พระพิฆเนศเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นมาจากไม้เพียงชิ้นเดียว อีกทั้งยังเป็นพระพิฆเนศไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีความสูง 200 เซนติเมตร ยาว 399 เซนติเมตร และกว้าง 199 เซนติเมตร พระพิฆเนศ นี้เป็นปางหนึ่งเศียรสี่กร ที่มีความหมายถึงการเสวยสุข และความสำเร็จในบั้นปลายชีวิต โดยกรทั้งสี่นั้นถือดอกบัวและเชือก ซึ่งแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง ตรีแสดงถึงการเดินทาง งาสื่อความหมายถึงการมีสติปัญญาอันแหลมคมและขนมซึ่งแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์
 
งานพระพิฆเนศไม้นี้นับว่าไม่เพียงแต่แสดงถึงเทคนิคและความสามารถในการแกะสลักชั้นครูแล้ว ยังเป็นงานที่ผสมผสานเอาเทคนิคอื่นๆ เช่น งานปิดทอง งานลงสี และงานปิดกระจก เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้ชิ้นงานมีความสมบูรณ์และมีความงดงามที่เป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่ง
คุณเกษมได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานนี้ว่า เป็นการสร้างสรรค์ผลงานที่ผ่านออกมาจากความศรัทธาและความเชื่อของตนเองต่อพระพิฆเนศ ซึ่งเป็นเทพแห่งงานศิลปะทั้งปวง อีกทั้งยังเป็นเทพที่ปกป้องและป้องกันอุปสรรค และสร้างความมั่งคั่งในแก่ผู้เคารพสักการะ ซึ่งหลังจากที่ตนได้ประสบความสำเร็จก็มีความต้องการที่จะสร้างองค์แกะสลักพระพิฆเนศที่เพื่อเป็นเครื่องสักการบูชา ทั้งของตนเองและคนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังต้องการให้ผลงานชิ้นนี้ได้เป็นที่สะท้อนฝีมือของเหล่าครูช่างและเป็นการสะท้อนศิลปะแห่งล้านนาอีกด้วย โดยตั้งปณิธานในขณะนั้นว่าจะต้องสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากไม่สำเร็จแล้วก็จะไม่ดำเนินกิจการอีกต่อไปและด้วยความร่วมแรงร่วมใจ แรงศรัทธา ของช่างแกะสลักและความทุ่มเทของคุณเกษมรูปสลักพระพิฆเนศองค์นี้จึงเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนด
 
ผลงานที่ 2 กินรี
 
ไม้แกะสลักรูปกินรีนี้เป็นผลงานของคุณบุญส่ง รังทะสีที่ได้บรรจงสร้างสรรค์งานนี้มา โดยเป็นงานแกะสลักบนแผ่นไม้ในแบบนูนสูง ซึ่งมีลวดลายสลับซับซ้อนและวิจิตรงดงาม งานกินรีไม้แกะสลักนี้เป็นการแกะสลักรูปนางกินรีสองตน ซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีที่มีร่างกายด้านบนเป็นหญิงสาวและขาเป็นหงส์ ซึ่งกำลังเล่น ร่ายรำ และหยอกล้อกันในดงดอกพุดตาน ในส่วนของกินรีทั้งสองตนได้มีการแกะสลักรายละเอียดทั้งในส่วนของเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับและท่าทางได้อย่างอ่อนช้อย สวยงาม นอกจากนี้ในส่วนล่างที่มีลักษณะเป็นหงส์นั้นก็ยังได้มีการตกแต่งลายไทยเข้าไปประกอบเพื่อแสดงความละเอียดและประณีตของช่างผู้แกะสลักอีกด้วย ในส่วนของดอกพุดตานนั้น ก็ได้มีการออกแบบลวดลายไทยเข้าไปประกอบ รวมทั้งมีการแกะสลักใบไม้เพื่อให้เกิดความสมจริงแก่ผลงานมากยิ่งขึ้น
 
โดยคุณบุญส่งได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจของผลงานนี้ว่า ตนมีความเชี่ยวชาญทางด้านการแกะสลักกินรีอยู่แล้ว จึงอยากที่จะลองออกแบบลวดลาย และท่าทางของกินรีที่ต้องการสื่อสารถึงความสุขและความสนุกสนานไปสู่ผู้ที่ได้ชม นอกจากนี้ยังได้มีการจินตนาการถึงลักษณะของดอกพุดตานเองว่าจะ มีลักษณะอย่างไร หรือดอกพุดตานจะบานแบบไหน เพื่อให้มีความสวยงามและเหมาะกับองค์ประกอบอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีความต้องการที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครอีกด้วย
 
ผลงานที่ 3 สิงห์ไม้แกะสลัก
 
งานสิงห์ไม้แกะสลักนับว่าเป็นผลงานที่โดดเด่นของคุณสมบัติ บุตรเทพ ซึ่งเป็นช่างที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแกะสิงห์ โดยสิงห์ไม้ชิ้นนี้เป็นลักษณะของสิงห์ที่กำลังจะกระโจน โดยขาหน้าทั้งสองนั้นยกขึ้นเหนือพื้น ปากของสิงห์กำลังอ้าออกเหมือนกำลังส่งเสียงร้องคำราม นอกจากนี้แล้วยังมีการประดับตกแต่งลายไทย เช่น ลายกนก บริเวณรอบปาก ขาหน้า ขาหลัง ดวงตาและหางของสิงห์เพื่อให้เกิดความอ่อนช้อยและงดงามมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการลงรายละเอียดในส่วนของเขี้ยวและเล็บให้เกิดความแหลมคมสมจริง ฐานของตัวสิงห์ได้มีการแกะสลักเป็นรูปคลื่นน้ำ ซึ่งเป็นลวดลายที่พลิ้วไหวและสวยงามที่บรรจงสร้างสรรค์มาจากใจ
 
คุณสมบัติได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจในผลงานนี้ว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงมีความต้องการที่จะสืบสานต่อไป นอกจากนี้สิงห์นั้นยังเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงทั้งความแข็งแกร่ง ความมั่นคง ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้จึงอยากที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่แสดงถึงสิ่งเหล่านี้ผ่านออกมาในงานชิ้นนี้ รวมทั้งยังมีแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งในความศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เพื่อที่จะถวายชิ้นงานแก่วัดเพื่อเป็นพุทธบูชา

ผลิตภัณฑ์เด่นของหมู่บ้าน

บ้านถวายนับว่าเป็นแหล่งรวบรวมสินค้าหัตถกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเทคนิคและประสบการณ์ที่สะสมมากว่า 40 ปี ทำให้สินค้าของบ้านถวายนับว่าเป็นสินค้าที่มีความหลากหลาย ความโดดเด่นและมีชื่อเสียงและคุณภาพระดับโลก โดยสินค้าของบ้านถวายนั้นได้ถูกจัดออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ จำนวน 5 หมวดหมู่ ดังนี้
 
หมวดที่ 1 เครื่องประดับตกแต่งบ้าน
เครื่องประดับตกแต่งบ้านนับว่ามีมากมายหลากหลายอย่าง โดยสินค้าส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีไม้เป็นส่วนประกอบหลัก จากนั้นจึงนำมาตัดแต่ง ทำสี รวมทั้งแกะสลักให้เป็นรูปต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น ตุ๊กตาไม้รูปกระเหรี่ยงคอยาว ตุ๊กตาสิงห์ แจกันไม้ แท่นวางเทียน แผ่นไม้ฉลุ โคมไฟไม้ บานประตูและหน้าต่างไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีงานอื่นๆ ที่เป็นการผสมผสาน ทักษะและเทคนิคต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่น งานวาดรูปเพ้นท์ลาย ซึ่งมีทั้งแนวพุทธศิลป์ ภาพวาดล้านนาและอื่นๆ 
 
หมวดที่ 2 สินค้าเฟอร์นิเจอร์
งานเฟอร์นิเจอร์ไม้จะมีการนำการแกะสลัก และเทคนิคงานไม้อื่นๆ เข้ามาประกอบกันเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สวยงาม โดยสินค้าเฟอร์นิเจอร์นั้น ก็ยังมีทั้งแบบที่เป็นลักษณะของเฟอร์นิเจอร์โบราณ เฟอร์นิเจอร์ทรงจีนและยังมีเฟอร์นิเจอร์แบบร่วมสมัยอีกด้วยตัวอย่างสินค้าเฟอร์นิเจอร์ของบ้านถวาย เช่น ชุดโต๊ะอาหาร โต๊ะสูง เคาน์เตอร์ แหย่งโบราณ ฉากกั้น เตียง เป็นต้น 
 
หมวดที่ 3 งานไม้แกะสลัก
หมู่บ้านถวายถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมไม้แกะสลักขนาดใหญ่ในประเทศไทย โดยตัวอย่างสินค้าในหมวดงานไม้แกะสลักที่ท่านสามารถเลือกชมตามร้านค้าต่างๆ ได้แก่ ภาพแกะสลักไม้ประดับบ้าน ซึ่งทั้งในรูปแบบงานนูนสูงและงานนูนต่ำ โดยเป็นการแกะสลักรูปสัตว์ในวรรณคดีต่างๆ หรือเป็นสัตว์อื่น เช่น ช้าง ม้า นอกจากนี้ยังมีงานแกะสลักเชิงพุทธศิลป์อีกด้วย งานแกะสลักของบ้านถวายยังมีที่เป็นในรูปแบบสามิติ เช่น งานแกะสลักตุ๊กตาดนตรีชุดดีด สี ตี เป่า งานไม้แกะสลักรูปพระพุทธรูปและพระเกจิอาจารย์ พระพิฆเนศไม้แกะสลัก เจ้าแม่กวนอิม เทพพนม งานไม้แกะสลักรูปสัตว์ต่างๆ เป็นต้น 
 
หมวดที่ 4 งานแต่งเส้นเดินลาย
งานแต่งเส้นเดินลาย หรืองานเลียนแบบของเก่า เป็นงานที่ผสมผสานเทคนิคที่หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้มีขั้นตอนและมีความสลับซับซ้อนมากกว่างานอื่นๆ เทคนิคที่ใช้ในการประกอบงานแต่งเส้นเดินลาย ได้แก่ เทคนิคงานไม้ต่างๆ การปิดกระจกการเดินเส้น การทำสีเก่าและการลงทอง ซึ่ง บ้านถวายก็จัดว่าเป็นศูนย์รวมงานแต่งเส้นเดินลายขนาดใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ตัวอย่างสินค้าในหมวดนี้ ได้แก่ ขันโตก (พานแบบล้านนาตู้โบราณ ชุดสำรับโบราณ แจกัน กล่องโบราณ โอ่งไม้ เป็นต้น 
 
หมวดที่ 5 ของที่ระลึก
บ้านถวายนั้นนับว่าเป็นแหล่งศูนย์รวมของที่ระลึกและของฝากขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ โดยส่วนมากแล้วจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ทั้งสิ้น ตัวอย่างสินค้าในหมวดนี้ อาทิ กำไลไม้ซึ่งมีลวดลายต่างๆ มากมาย อาทิ ลายน้ำไหล ลายไทย และลายเท็กเจอร์ (ลายที่ทำผิวไม้เป็นลักษณะต่างๆตุ้มหูไม้ ดินสอไม้ กบไม้ที่สามารถเลียนเสียงกบร้องได้ นาฬิกาไม้พวงกุญแจไม้ เป็นต้น 

เทคนิคและลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์

เทคนิคและลวดลายการแกะสลักไม้ของหมู่บ้านถวายนั้นนับว่า เป็นเทคนิคที่มีความซับซ้อนและมีความประณีตบรรจง ที่ต้องอาศัยทั้งทักษะและประสบการณ์ โดยเทคนิคที่โดดเด่นนี้ ได้แก่ การแกะสลัก การปิดทอง การแต่งเส้นเดินลาย
 
การแกะสลัก 
การแกะสลักนับว่าเป็นเทคนิคที่โดดเด่นและมีความเฉพาะตัวสูงมาก โดยช่างแกะสลักไม้แต่ละท่านก็จะมีเทคนิคและมีความถนัดเชี่ยวชาญกันไปคนละด้าน แต่สิ่งที่ทุกท่านมีเหมือนกัน คือการมีจินตนาการและประสบการณ์ที่ได้สั่งสมกันมาจนทำให้สามารถผสมผสานเทคนิคต่างๆ เข้าด้วยกันได้อย่างลงตัว

ขั้นตอนการแกะสลักไม้นั้นก็เริ่มตั้งแต่การเลือกสรรไม้ที่จะนำมาแกะสลัก โดยไม้แกะสลักที่ทางบ้านถวายนิยมใช้นั้นก็ควรจะเป็นไม้เก่าเพราะเนื้อไม้จะอ่อนและสามารถแกะสลักลวดลายได้อย่างง่ายดาย หากเป็นไม้ใหม่หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าไม้หนุ่มนั้นก็จะมีเนื้อที่แข็งและยากต่อการแกะสลัก จากนั้นหากต้องการจะแกะรูปนูนต่ำ หรือนูนสูง ช่างแกะสลักก็จะมีการวาดลวดลายที่ต้องการแกะสลักไว้ ต่อมาจึงเริ่มแกะสลักเส้นต่างๆ ตามลวดลายที่วาดไว้ แล้วจึงใส่รายละเอียดของชิ้นงานอีกที หากเป็นการแกะสลักรูปสามมิติ หลังจากคัดสรรไม้ที่จะนำมาแกะสลักแล้ว ก็จะเป็นกระบวนการที่เรียกว่าการโกนหุ่น ซึ่งก็คือการทำโครงคร่าวๆ ของชิ้นงานที่จะแกะสลัก จากนั้นจึงเริ่มใส่รายละเอียดที่มากขึ้น ไปเรื่อยๆ 
การแกะสลักที่ยากและมีความสลับซับซ้อนอย่างมากนั้นก็คือการแกะสลักรูปนูนสูงที่มีลักษณะเป็นหลายๆ ชั้น โดยจะเริ่มแกะสลักจากส่วนนอกสุดก่อน แล้วจึงค่อยๆ แกะลึกลงไป ซึ่งเป็นงานที่ต้องใช้ความประณีตและเทคนิค รวมทั้งประสบการณ์ของช่างแกะสลักอย่างมาก โดยระยะเวลาที่ใช้ในการแกะชิ้นงานในลักษณะนี้ประมาณ 3 เดือน หากเป็นงานที่ซับซ้อนมากๆ ก็อาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ก็เป็นได้
 
หลังจากแกะสลักรายละเอียดในส่วนต่างๆ เรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องนำชิ้นงานเหล่านั้นมาขัดผิวไม้เพื่อให้เกิดความเรียบเนียนสวยงาม และเพื่อเป็นการลบรอยตำหนิเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดจากการแกะสลัก เมื่อขัดชิ้นงานแล้ว ก็จะต้องนำชิ้นงานนั้นมาลงแล็กเกอร์เพื่อให้ไม้คงทนสภาพและเกิดความมันวาว แต่อาจมีบางชิ้นงานที่ใช้เทคนิคในการลงสีฝุ่นแทนเพื่อให้ชิ้นงานดูนวลตามากขึ้น นอกจากนี้หากต้องการให้ชิ้นงานมีความคล้ายคลึงกับของเก่า ก็อาจนำชิ้นงานนั้นไปตั้งไว้ในที่โล่งแจ้ง เพื่อให้แดดและฝนช่วยในการทำเก่า โดยไม่ต้องมีการเคลือบสีงานหรือทำเก่าแต่อย่างใด
 
การปิดทอง 
เทคนิคการปิดทองนั้นก็เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยเสริมงานไม้แกะสลักและงานเลียนแบบของเก่าให้มีความสวยงามและมีความสมจริงมากยิ่งขึ้น โดยขั้นตอนเริ่มแรกในการปิดทองนั้น ต้องทำหลังจาก ที่ชิ้นงานมีการลงสีเสร็จแล้ว จากนั้นจึงลงสีที่เรียกว่า “สีเฟลค” ในบริเวณที่ต้องการปิดทอง แล้วจึงนำทองคำเปลว 100% มาปิดที่บริเวณที่ต้องการ ขั้นตอนการติดทองคำเปลวนั้นนับว่าเป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก ผู้ที่ทำการปิดทองต้องใช้ความประณีตและอดทน เพราะหากทำรุนแรงจนเกินไปก็อาจทำให้ทองคำเปลวเสียหายได้
 
การแต่งเส้นเดินลาย
การแต่งเส้นเดินลายนั้นเป็นงานที่รวบรวมเอาเทคนิคย่อยๆ เอาไว้ด้วยกันจำนวน 4 เทคนิค คือ การเดินเส้น การลงทอง เทคนิคการทำสีเก่า (การทำสีขัดน้ำและเทคนิคการปิดกระจกเข้าไว้ด้วยกัน โดยการแต่งเส้นเดินลายนั้นเป็นเทคนิคที่ถูกใช้ประกอบชิ้นงานเพื่อให้ชิ้นงานนั้นมีลักษณะเหมือนของเก่า ทั้งยังเป็นการเพิ่มความสวยงามและลูกเล่นให้กับชิ้นงานอีกด้วย
เมื่อชิ้นงานไม้ที่อาจเป็นในลักษณะของตู้ ขันโตก หรือ กล่องต่างๆ มาถึง ก็จะถูกนำมาอุดรูรั่วหรือช่องระหว่างแผ่นไม้ด้วยขี้เลื่อยก่อน จากนั้นก็จะต้องนำมาขัดให้เรียบเนียน และสีพื้นซึ่งโดยส่วนมากแล้วจะเป็นพื้นสีแดง ทำให้ชาวบ้านเรียกขั้นตอนนี้ว่า “การลงแดง” โดยสีแดงที่ใช้นั้นจะเป็นสีน้ำสีแดงธรรมดา จากนั้นก็จะเป็นการนำเทคนิคการเดินเส้นเข้ามาประกอบในชิ้นงาน
 
 
การเดินเส้น
เทคนิคการเดินเส้นนั้น เริ่มด้วยการทำเส้นที่ใช้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วชาวบ้านจะเรียกว่า “มุก” ซึ่งทำมาจากส่วนผสมคือ ปูนขาว ชันชนิดผง และสีน้ำมัน ซึ่งโดยปกติแล้วจะเป็นสีดำ จากนั้นส่วนผสมดังกล่าว ก็จะจับตัวกันเป็นก้อนๆ จากนั้นก็นำส่วนผสมที่ได้มากลิ้งให้เป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ซึ่งกระบวนการในการทำเส้นมุกด้วยมือนั้น ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไปว่า “การกิ๊กเส้น” อย่างไรก็ตามการกลิ้งเส้นด้วยมือนับว่าเป็นงานที่ใช้เวลานานและต้องใช้ความอดทนสูง ปัจจุบันจึงได้มีการนำเครื่องปั๊มเส้นเข้ามาช่วย เพื่อให้เกิดความสะดวกและรวดเร็ว จากนั้นจึงนำเส้นที่ได้ไปแช่น้ำเพื่อให้เกิดความอ่อนตัวแล้วจึงนำเส้นเหล่านี้มาเดินตามชิ้นงาน 
การเดินเส้นเป็นลวดลายต่างๆ นั้นผู้ทำจะต้องมีการออกแบบด้วยตนเอง ซึ่งจะไม่มีการร่างไว้ บนชิ้นงานก่อน นอกจากนี้แล้วยังมีการตกแต่งเส้นให้มีลวดลายต่างๆ ซึ่งสามารถทำได้โดยนำมุกมาแนบกับหวีซี่เล็ก จากนั้นก็กดให้เกิดรอยหยักบริเวณมุก แล้วจึงนำไปใช้เดินเป็นลวดลายต่างๆ หากต้องการลวดลายอื่นเพิ่มเติมก็สามารถทำได้โดยเมื่อเดินเส้นเป็นลวดลายไว้แล้วให้นำเอาปากกาหัวเล็กมาวาดลวดลายลงบนเส้นมุกเพื่อเพิ่มความละเอียดอ่อนและความสมบูรณ์ของชิ้นงานให้มากขึ้น เมื่อเดินเส้นเสร็จแล้วจึงนำสีน้ำมันสีแดงหรือสีอื่นๆ ที่เป็นสีเดียวกับพื้นมาทาทับเพื่อให้เส้นติดกับชิ้นงาน
 
การลงทอง
หลังจากเดินเส้นและลงสีทับแล้วก็จะนำชิ้นงานมาลงทอง โดยเป็นการใช้พู่กันปลายเล็กจุ่มสีทองแล้วนำมาทาบริเวณที่ต้องการโดยส่วนมากแล้วก็จะเป็นการลงสีในบริเวณเส้นที่เดินเพื่อให้เกิดความสวยงามและเสมือนงานของเก่ามากขึ้น โดยขั้นตอนนี้นับว่าเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้ความละเอียดและความระมัดระวังสูงอีกขั้นตอนหนึ่ง
การทำสีไม้เก่า (การทำสีขัดน้ำ)
เมื่อมีการลงทองในส่วนที่ต้องการแล้ว ก็จะถึงกระบวนการทำสีไม้เก่า หรือการทำสีขัดน้ำ คือเป็นการนำสีน้ำสีดำลงทับสีพื้นสีแดง รอให้แห้งแล้วจึงนำฟองน้ำมาขัด เพื่อให้สีดำบางส่วนลอกออกไปจนเห็นเป็นสีแดงและสีดำสลับกัน โดยระหว่างที่ขัดนั้นต้องมีการใช้น้ำเข้ามาช่วยลดแรงขัดและช่วย หล่อลื่นเพื่อไม่ให้สีลอกมาจนเกินไป จากนั้นขั้นตอนต่อมาก็คือการลงแล็กเกอร์เพื่อเคลือบเงาให้กับชิ้นงานและเพื่อป้องกันการหลุดลอกของสีที่ทาลงบนเนื้อไม้
 
การปิดกระจก
การปิดกระจกนับว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งเส้นเดินลาย ซึ่งนับว่าเป็นส่วนที่ทำให้ชิ้นงานเกิดความสวยงามและเสมือนของเก่ามากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มจากการออกแบบสีต่างๆ บนชิ้นงาน จากนั้น จึงนำกระจกซึ่งถูกตัดเป็นเส้นเล็ก มีความบางและง่ายต่อการหักด้วยมือมาติดบนชิ้นงานตามที่ต้องการ การปิดกระจกนั้นจำเป็นที่จะต้องใช้กาวปิดกระจกซึ่งเป็นกาวที่มีลักษณะสีขาวขุ่นคล้ายกาวลาเท็กซ์ แต่สิ่งที่พิเศษของกาวชนิดนี้ก็คือการที่เมื่อกาวแห้งแล้วจะไม่มีการทิ้งคราบกาวให้เห็นบนชิ้นงาน เมื่อปิดกระจกเรียบร้อยแล้วก็จะนับว่างานแต่งเส้นเดินลายนั้นเสร็จสมบูรณ์