วัดหนองไคร้หลวง

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2143 แต่เดิมตั้งอยู่กลางหมู่บ้านหนองไคร้หลวง เนื่องจากเกิดอัคคีภัยขึ้น ชาวบ้านถือว่าเป็นนิมิตที่ไม่ดีพร้อมกันนั้น วัดอยู่ตัดกับหมู่บ้าน จึงไม่เหมาะสมเท่าที่ควร เนื่องจากว่าเงาของหมู่บ้านไปทับช่วงแก้ว (ลานวัด) โดยเฉพาะชาวภาคเหนือถือมาก ครูบาเจ้ากิตติซึีงเป็นอธิบดีสงฆ์ภายในวัดหนองไคร้หลวงนั้น ประกอบกับครูบาเจ้าเถรวาทผู้ใหญ่ที่ประชาชนทั่วไปเคารพนับถือมาก จึงเลือกชัยภูมิที่เหมาะสมสำหรับสร้างวัดและไม่มีสถานที่ใดจะดีไปกว่ากลางทุ่งนาที่นี้ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ 35 วา เป็นที่สร้างวัดปัจจุบัน ที่ตั้งวัดเดิมคงเหลือแต่พื้นที่ดินของวัดร้าง ปัจจุบันวัดหนองไคร้หลวงเป็นวัดพัทธสีมามีอายุประมาณ 400 กว่าปีที่มาแล้ว เป็นวัดที่เก่าแก่มากในประวัติศาสตร์ ภายในตำบลหนองจ๊อม คำว่าหนองคือ หนองน้ำภายในวัดหนองไคร้หลวง คำว่า ไคร้หลวงคือต้นไม้ยืนต้นชนิดนึง ชื่อว่าไม้ไคร้หนอง น้ำภายในวัดหนองไคร้หลวงดังปรากฎอยู่ในปัจจุบันนี้ที่ตรงหนองน้ำนั้นมีขอนไม้ขนาดใหญ่อยู่ขอนหนึ่ง คือ ขอนไม้ไคร้นั้นเอง ในด้านประวัติศาสตร์กาลครั้งหนึ่งพระนางจามเทวี (พ.ศ.1200) เจ้าผู้ครองเมืองหริกุญชัย จังหวัดลำพูน ในปัจจุบันได้เสด็จประภาสหัวเมืองต่างๆทางทิศเหนือ ครั้นเสด็จมาถึงสถานที่แห่งหนึ่งมีสระน้ำอันกว้างใหญ่ใสสะอาดมีต้นไม้ใหญ่ร่มเย็น(ต่อมาเป็นที่ตั้งวัดหนองไคร้หลวง) เป็นสถานที่สงบร่มรื่น พระนางจึงได้รับสั่งใหข้าราชบริพาร ผู้ติดตามหยุดพักผ่อน ณ ที่ตรงนั้น ส่วนพระนางก็เสด็จลงไปในหนองน้ำนั้นเพื่อสรงน้ำและสระพระเกศา(สระผม) ของพระนางที่ขอนไม้ไคร้นั้น ครั้นเมื่อทำธุรกิจเสร็จแล้วก็เลื่อนขบวนออกไปเพื่อเสด็จกลับนั้น ได้เสด็จไปสถานที่แห่งหนึ่ง พระนางฯ ทรงลืมจ๊อง(ช้องนาง) จึงได้เหลียวหลังกลับคืนไปยังบริเวณสระน้ำ(วัดหนองไคร้หลวงในปัจจุบัน) อีกครั้งหนึ่ง ณ สถานที่แห่งนั้น ปัจจุบันจึงเรียกวัดว่า "วัดนางเหลียว" ส่วนชื่อของตำบลหนองจ๊อม แต่เดิมเรียกว่า "หนองจ๊อง" ตอนหลังเพี้ยนเป็น "หนองจ๊อม" มาจบตราบเท่าทุกวันนี้

ลักษณะที่ตั้ง

วัดหนองไคร้หลวง ตั้งอยู่เลขที่ 12 หมู่ที่ 8 ตำบลหนองจ๊อม อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 5 ไร่ 75 ตารางวา การคมนาคมสะดวกกับถนนวงแหวนรอบเมืองเส้นที่ 2 ถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 121 ในอดีตกาลวัดหนองไคร้หลวง เคยเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอดเคยเป็นสถานที่พำนักของพระมหาเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นปุชนียบุคคลพำนักมาโดยตลอด

พระอุโบสถ

พระอุโบสถวัดหนองไคร้หลวง ได้รับพระราชทานวิสุงเมื่อ พ.ศ.2143 และเป็นวัดที่สร้างก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2484 จึงเป็นวัดตามกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มีผลบังคับใช้ ปัจจุบันมีอาคารเสนาสนะมั่นคงและมีพระภิกษุอยู่จำพรรษาตลอดมา

อุโบสถวัดหนองไคร้หลวง เป็นศิลปกรรมล้านนา สร้างปราสาทครอบลูกนิมิตไว้จำนวน 7 หลัง มีลักษณะของอุโบสธที่แปลกกว่าอุโบสถของวัดอื่นๆ โดยทั่วไป ถ้าท่านสังเกตจะเห็นได้ว่ามีลูกนิมิตแฝดหรือใบเสมาคู่ ซึ่งวัดโดยทั่วไปจะมีใบเสมาหรือลูกนิมิต 1ลูก/ใบ ใน 1 ตำแหน่งเท่านั้น แต่บางวัดบางพื้นที่ก็จะมีเสมาหรือลูกนิมิต 2-3 ใบ ในหนึ่งตำแหน่งในใบเสมาที่มี 2 ใบ เราจะเรียกว่า "เสมาคู่ หรือ อุโบสถสิงสงฆ์" ในเสมาที่มี 3 ใบ เราจะเรียกว่าเสมากลุ่ม เหตุที่เป็นเช่นนั้นมีข้อสันนิษฐานถึงนัยยะที่ซ่อนอยู่ก็คือ เป็นเพราะว่าการผูกสีมาที่ต่างวาระ ต่างนิกายในที่เดียวกัน การทำอย่างนี้ฝ่ายที่มาทีหลัง เมื่อต้องการใช้พื้นที่ในสังฆกรรมแห่งนั้น ไม่มีความเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ในเขตสีมาอันก่อน จึงได้ทำการสวดผูกสีมาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือวัดในสมัยโบราณนั้น มีด้วยกัน 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายอรัญวาสีและฝ่ายคามวาสี เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นการเลือกปฏิบัติก็จะอาราธนาสงฆ์ทั้ง 2 ฝ่าย ให้มาผูกพัทธสีมาพร้อมกัน วัดหลวงจึงมักเห็นมีสีมา 2 ใบแต่นั้นมา ส่วนวัดราษฎร์นั้นขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดเป็นผู้สร้าง เสมาจึงใช้เพียงใบเดียวกันอย่างที่เราคุ้นๆตากันนั่นเอง

อะไรคือใบเสมาหรือลูกนิมิต

ใบเสามาหรือลูกนิมิตนั้นเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกเขตของการทำสังฆกรรม และจะเรียกพื้นที่ๆใบเสมาหรือลูกนิมิตล้อมรอบว่า "เขตสังฆกรรม" เขตของการทำสังฆกรรมโดยมีเสมาหรือลูกนิมิตเป็นเครื่องหมายกำหนดการนั้น จะเป็นพื้นที่ๆมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เป็นพื้นที่ต้องห้ามสำหรับภิกษุสงฆ์ทุกรูป ไม่ว่าจะพำนักหรือสังกัดในพระอารามนั้นหรือไม่ก็ตามหากว่ามีการทำสังฆกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในเขตสีมาแล้ว หากว่าพระภิกษุรูปใดก้าวล้ำเข้ามาในเขตดังกล่าว ก็จะต้องระมัดระวัง ไม่แล้วการทำสังฆกรรมในครั้งนั้นจะถือเป็นโมฆะทันที

สังฆกรรม หรือกิจกรรมของสงฆ์ตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป ร่วมกันทำในเขตสีมาสงฆ์กรรมของสงฆ์นั้นมี 4 แบบ คือ

1. อปโลกนกรรม ได้แก่กรรมที่ทำเพียงบอกในที่ประชุมสงฆ์ไม่ต้องตั้งปฏิบัติหรือสวดอนุสาวนา เช่น การแจ้งลงพรหมทัณฑ์แก่พระภิกษุ

2. ญัตติกรรม ได้แก่กรรมที่ทำเพียงตั้งญัตติโดยไม่สวดอนุสาวนา เช่น การลงอุโบสถ การปวารณา

3. ญํัตติทุติยกรรม ได้แก่กรรมที่ทำโดยการตั้งญัตติแล้วสวดอนุสาวนาครั้งหนึ่ง เช่น การสมมุติสีมา การรับผ้ากฐิน

4. ญัตติจตุถกรรม ได้แก่กรรมที่ทำด้วยการตั้งญัตติแล้วอนุสาวนา 3 ครั้ง เช่น การอุปสมบท ดังนั้นสังฆกรรมของสงฆ์จึงเป็นเรื่องที่สงฆ์ทั้งมวลให้ความสำคัญในการกระทำใบเสมาหรือลูกนิมิต จึงเป็นเครื่องหมายที่บ่งบอกพื้นที่ๆสงฆ์ทำสังฆกรรมดังกล่าว

วิหาร

วิหารวัดหนองไคร้หลวงหลังเก่าก่ออิฐหรือปูนชำรุดมาก ได้ทำการรื้อถอนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2526 และได้ประกอบพิธีวางศิลฤกษ์วิหารหลังใหม่ เมื่อวันอังคารที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2526 และได้ก่อสร้างวิหารหลังใหม่ศิลปะล้านนา มีขนาดกว้าง 9.50 เมตร ยาว 22.50 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปีพ.ศ. 2530 ทำบุญฉลองเมื่อวันที่ 7-10 พฤษภาคม พ.ศ. 2530 สิ้นทุนทรัพย์ในการก่อสร้าง 1,281,000.75 .- บาท (หนึ่งล้านสองแสนแปดหมื่นหนึ่งพันบาทเจ็ดสิบห้าสตางค์)

พระประธานในวิหาร

พระพุทธมเหรกโสพภมงคลบพิตร พระประธารในวิหารวัดหนองไคร้หลวง เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิหงายพระหัตถ์ทั้งสอง พระหัตถ์ขวาอยู่บนพระหัตถ์ซ้าย วางบนเพระเพลาหรือประทับนั่งอย่างปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 25 นิ้วฟุต สูง 46.50 นิ้วฟุต ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางเรือนแก้ว หล่อด้วยทองสัมฤทธ์

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพมหานคร ได้โปรดประทานพระนาม

ธรรมาสน์

ธรรมาสน์ไม้โบราณของวัดหนองไคร้หลวง เป็นธรรมาสน์ศิลปกรรมทางล้านนา พุทธศตวรรษที่ 25 ลักษณะเป็นทรง 20 เหลี่ยม ฐาน 3 ชั้น มีเสาทั้งหมด 32 ต้น กว้างยาว 197 เซนติเมตร สูง 800 เซนติเมตร เป็นธรรมาสน์ขนาดใหญ่ ลงรักปิดทองลวดลายพิสดารแบบล้านนา มีบันไดนาคสวยงามสำหรับขึ้น-ลงธรรมาสน์

พระบรมสารีริกธาตุ

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราข สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราของค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ วัดบวรนิเวศน์วิหาร กรุงเทพมหานคร ได้โปรดประทานพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 9 องค์ อังคารธาตุ 8 องค์ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ได้นำบรรจุประดิษฐ์ไว้ภายในทรงระฆังคว่ำบนยอดของพระเจดีย์แก้ว พร้อมกับพระบรมสารีริกธาตุจากสำนักสงฆ์อาทิจจวังโส อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยพระอาจารย์นพพร อาทิจจวิโสจำนวน 108 องค์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2542 ตรงกับเดือน 5 เหนือขึ้น 15 ค่ำ เพื่อเป็นที่สักการะกราบไหว้ไว้บูชาแก่เทวดาและมนุษย์ทะ้งหลาย และถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา "พระโคตรมะเจ้า" ให้เจริญถาวรรุ่งเรืองยิ่งขึ้้นไป

พระเจ้าทันใจ

ภายในห้องโถงพระเจดีย์แก้วเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน (พระสิงห์หนึ่ง) ลงรักปิดทองมีขนาดหน้าตักกว้าง 39 นิ้ว สูง 1.50 เมตร ศรัทธาอาจารย์นิวัฒน์ อาจารย์ศิริพร ศิริสานต์ เป็นเจ้าภาพ สร้างถวายไว้ในบวรพระพุทธศาสนา เป็นที่กราบไหว้บูชาแก่คนและเทวดาทั้งหลาย เมื่อคราวอบรมสมโภชพระเจดีย์แก้ววัดหนองไคร้หลวง "วันมาฆะบูชา" วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ.2542 ตรงกับเดือน 5 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ (เดือน 5 เป็ง)